top of page
Image-empty-state.png

แมลงกัดต่อย และวิธีรักษาอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง

แมลงกัดต่อย และวิธีรักษาอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563

แม้อาจเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกแมลงกัดต่อย เพราะเหล่าแมลงนั้นมักแฝงตัวอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในสวนหลังบ้าน ในแม่น้ำ ตามแนวหญ้าป่าเขา หรือที่ใด ๆ ซึ่งเมื่อถูกแมลงกัดต่อยก็อาจเกิดรอยแดงที่ผิวหนัง เกิดอาการบวม หรืออาจรู้สึกปวดตามบริเวณดังกล่าว แต่หากอาการไม่รุนแรงมากก็อาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจนัก เพราะโดยส่วนใหญ่แมลงเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง และอาจรักษาหรือบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นด้วยตนเองได้ที่บ้าน ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

วิธีรับมือและบรรเทาอาการจากแมลงกัดต่อย

แผลที่เกิดจากแมลงกัดต่อยนั้น อาจแตกต่างกันไปตามชนิดของแมลง แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นตุ่มสีแดงเล็ก ๆ บนผิวหนัง และอาจทำให้รู้สึกคัน ปวด หรือมีอาการบวมในบริเวณดังกล่าว แม้อาการเหล่านี้มักสร้างความเจ็บปวดให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผู้ที่ถูกแมลงกัดต่อยก็อาจอยากรักษาอาการที่เกิดขึ้นให้หายไปด้วยตนเอง โดยอาจทำตามวิธีต่อไปนี้ เพื่อให้อาการหายดีภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน

- เมื่อถูกแมลงกัดต่อย ให้ย้ายไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้แมลงกัดต่อยซ้ำได้อีก และล้างบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บด้วยน้ำและสบู่ รวมทั้งหมั่นรักษาความสะอาดบริเวณนั้น ๆ อยู่เสมอ
- หากถูกเห็บกัด มีขนของแมลง หรือมีเหล็กในติดอยู่ที่ผิวหนัง ให้นำสิ่งเหล่านั้นออกจากผิวหนังโดยใช้แหนบหรือปากกาเขี่ยขนของแมลงออก ใช้อุปกรณ์ดึงเห็บหรืออาจใช้แหนบดึงตัวเห็บโดยเฉพาะ และอาจใช้วัสดุที่แข็งอย่างสันบัตรเครดิตขูดเหล็กในของแมลงจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้เหล็กในหลุดออก แต่ห้ามบีบผิวเพื่อให้เหล็กในหลุดออกมาโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้พิษกระจายออกมาได้
- ให้ยกบริเวณที่แมลงกัดต่อยให้สูงขึ้นหากทำได้ เพื่อลดอาการปวดบวม และควรเฝ้าสังเกตบริเวณดังกล่าวในวันถัดไปด้วยว่ามีอาการปวดบวมหรือแดงมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้
- ประคบเย็นบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อยด้วยถุงน้ำแข็ง ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งเป็นเวลาประมาณ 10 นาที จากนั้นให้พัก 10 นาทีแล้วประคบใหม่ โดยอาจทำเช่นนี้สลับไปมาเรื่อย ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดบวมหรือคัน ทั้งนี้ อาจอาบน้ำเย็นเพื่อช่วยลดอาการคันด้วยก็ได้
- ห้ามแกะเกาแผลหรือทำให้แผลเปิด เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม และอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากเป็นเด็กเล็กที่ถูกแมลงกัดต่อย ควรตัดเล็บเด็กให้สั้น และหมั่นดูแลความสะอาดเล็บของเด็กอยู่เสมอ
- ห้ามรัดบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บด้วยสายรัดใด ๆ และควรถอดเครื่องประดับที่รัดแน่นบริเวณนั้นออก เพราะหากบริเวณดังกล่าวบวมขึ้น อาจทำให้ถอดเครื่องประดับออกได้ยาก
- อาจนำสำลีก้านไปจุ่มกับนมแล้วมาป้ายบริเวณที่แมลงกัดต่อย เพราะโปรตีนในน้ำนมอาจช่วยลดอาการบวม แดง หรือการอักเสบ
- อาจลองทาบริเวณที่แมลงกัดต่อยด้วยยาสีฟัน เบกกิ้งโซดาผสมน้ำ Tea Tree Oil น้ำมันลาเวนเดอร์ หรือหอมหั่นสด เพื่อช่วยลดอาการที่เกิดขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่แพ้สารต่าง ๆ เหล่านี้
- รับประทานยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาอาการปวด หรืออาจลดอาการคันโดยการรับประทานยาต้านฮิสตามีนชนิดเม็ด ใช้ครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของไฮโดรคอร์ติโซนหรือคาลาไมน์บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ห้ามใช้ยาอื่นหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็น Reye’s Syndrome ได้

หลังแมลงกัดต่อย มีอาการแบบไหนจึงควรไปพบแพทย์ ?

ผู้ที่ถูกแมลงกัดต่อยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน สับสน มีปัญหาด้านการหายใจ หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นตะคริว มีอาการบวมที่เปลือกตา ริมฝีปาก ปาก และคอ เป็นลม หรือเป็นลมพิษ นอกจากนี้ หากรู้สึกว่าตนเองไม่สบายหรือมีอาการคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ในหลายวันถัดมาหลังจากถูกแมลงกัดต่อย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อหรือโรคที่อาจเกิดขึ้นจากแมลงเหล่านั้น รวมทั้งหากแผลมีความรุนแรงขึ้นและเป็นไม่หายหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

นพ.ภัทร วรวุทธินนท์

bottom of page