รู้ทัน “รังแค” เพื่อรักษา และป้องกัน
รู้ทัน “รังแค” เพื่อรักษา และป้องกัน
วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ตอนเช้า ๆ อากาศเย็น พอตอนบ่ายกลับร้อนอบอ้าว อากาศเปลี่ยนแปลงแบบนี้ทุกวัน คุณรู้หรือไม่ว่าอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหารังแค ปัญหารังแคทำให้คุณขาดความมั่นใจ เพราะต้องคอยกังวลว่าบนไหล่จะมีเศษรังแคร่วงลงมาตอนไหน ยิ่งถ้าต้องใส่เสื้อสีเข้ม ๆ แล้วล่ะก็ วันนั้นทั้งวันคุณจะอยู่อย่างไม่มีความสุขแน่นอน
วันนี้ จะพาไปรู้จักกับรังแค ว่ารังแคคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร และมีทางรักษาอย่างไรบ้าง เพื่อให้คุณได้ป้องกันและรักษารังแคอย่างถูกวิธี จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
รังแค คืออะไร?
เป็นภาวะเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับหนังศีรษะและพบได้บ่อยกับคนทุกเพศทุกวัย เกิดจากการที่ผิวหนังเกิดการผลัดเซลล์ผิวที่เร็วหรือมากกว่าปกติ ก่อให้เกิดอาการคัน หนังศีรษะแห้ง การเกิดรังแคสามารถเกิดได้ทั่วทั้งบริเวณศีรษะ ไม่ใช่แค่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง อย่างไรก็ตาม รังแคไม่ใช่โรคติดต่อและไม่เป็นอันตราย และส่วนใหญ่สามารถรักษาและควบคุมอาการได้ไม่ยาก
ปัญหารังแค สังเกตได้ด้วยตัวคุณ
1.มีสะเก็ดสีเหลืองหรือขาว มีลักษณะมันวาวเป็นแผ่นแบนหรือแผ่นบาง ๆ หลุดออกมาจากหนังศีรษะ มักพบเห็นที่บริเวณหนังศีรษะ เส้นผม และไหล่
2.หนังศีรษะมันและแดง เป็นสะเก็ด มีอาการคันที่บริเวณหนังศีรษะร่วมด้วย
3.มักจะพบว่าเป็นมากในช่วงฤดูหนาวและอาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน
สาเหตุของการเกิดรังแค มีอะไรบ้าง?
1.เกิดจากเชื้อรา ที่เรียกว่า เชื้อยีสต์ (Malassezia หรือ Pityrosporum) โดยปกติแล้ว เชื้อราเหล่านี้จะอาศัยอยู่ที่บริเวณหนังศีรษะของเราอยู่แล้ว โดยอาศัยการกินน้ำมันที่สร้างมาจากต่อมรากผมและต่อมไขมันเป็นอาหาร แต่หากเมื่อใดที่เชื้อราเหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วผิดปกติ จะทำให้เกิดการสร้างและผลัดเซลล์ผิวที่เร็วกว่าปกติด้วยเช่นเดียวกัน
2.ต่อมไขมันใต้หนังศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป ส่งผลให้มีการกระตุ้นเชื้อรา จนมีการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าปกติ
3.ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน เมื่อร่างกายมีระดับฮอร์โมนแบบไม่คงที่ จะมีผลต่อการทำงานของต่อมภายในร่างกาย ร่วมทั้งต่อมไขมัน โดยจะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติตามมา
4.การมีผิวและหนังศีรษะที่แห้ง จะก่อให้เกิดการผลัดผิวเร็ว จนตกสะเก็ดหลุดลอกออกมาเป็นแผ่น ๆ ได้
5.ไม่ค่อยสระผม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแค เพราะเมื่อไม่สระผมจะทำให้เกิดการสะสมของน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วบนหนังศีรษะเพิ่มขึ้น จนนำมาซึ่งการสะสมของรังแคเพิ่มตามด้วย
6.สภาพอากาศ โดยเกิดจากสภาพอากาศหนาวเย็นหรืออากาศร้อนแห้ง โดยส่วนมากคนมักจะเป็นรังแคช่วงฤดูหนาว
7.การใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เช่น มูส สเปรย์ เจล เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจจะมีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองกับหนังศีรษะได้
8.ขาดสารอาหารบางประเภท เช่น ขาดวิตามินบี ซิงก์ (สังกะสี) หรือไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเช่น โอเมก้า 3
9.ความเครียด ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดรังแคได้ เนื่องจากความเครียดจะส่งผลทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวนจนขาดความสมดุล
10.ดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็มีส่วนทำให้เกิดรังแคได้เช่นกัน
ปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเป็นรังแคเพิ่มขึ้น
1.เพศและอายุ รังแคสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ปกติมักจะเกิดกับวัยหนุ่มสาวจนไปถึงวัยกลางคน แต่สำหรับบางรายสามารถเป็นได้ตลอดชีวิต นอกจากนั้น จากการวิจัยพบว่าเพศชายมีโอกาสเป็นรังแคได้มากกว่าเพศหญิง โดยมีฮอร์โมนเพศชายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรังแค
2.มีน้ำมันที่เส้นผมและหนังศีรษะมาก เชื้อรามาลาสซีเซียสามารถเติบโตได้จากน้ำมันบนหนังศีรษะ เมื่อเชื้อราชนิดนี้มีมากกว่าปกติก็จะทำให้เกิดรังแค
3.โรคบางชนิด เช่น โร๕ผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน เชื้อราบนหนังศีรษะ โรคพาร์กินสัน ทำให้มีโอกาสเกิดรังแค รวมไปถึงการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ก็อาจทำให้เกิดรังแคได้เช่นกัน
4.ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดรังแค ได้แก่ กรรมพันธุ์, การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน, การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป, รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เผ็ด หรือมีเกลือมาก, การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น กรดไขมัน และวิตามินบี, การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความเครียด
เป็นรังแค รักษาอย่างไร?
1.ใช้แชมพูยาขจัดรังแค สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และควรสระผมทุกวันเพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกิน โดยควรเลือกใช้แชมพูขจัดรังแคสูตรอ่อนโยนหรือแชมพูที่มีส่วนผสมของยา เช่น ซิงค์ไพริไทออน (zinc pyrithione), คีโทโคนาโซล (ketoconazole), ซีลีเนี่ยมซัลไฟด์ (selenium sulfide) และไพรอคโทน โอลามีน (Piroctone Olamine)
2.อย่าใช้เล็บเกาหนังศีรษะระหว่างสระผม เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ควรนวดหนังศีรษะเบา ๆ ด้วยปลายนิ้ว เพื่อช่วยขจัดสิ่งตกค้างและเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่หนังศีรษะให้ดียิ่งขึ้นด้วย
3.หลังสระผมควรเช็ดผมให้แห้งทุกครั้ง โดยใช้ผ้าขนหนูที่สะอาดค่อย ๆ ซับเบา ๆ ที่ผมให้แห้ง หรือปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาติก็ได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความอับชื้นที่อาจจะเป็นต้นเหตุของการเกิดของเชื้อรา ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการขยี้ผมแรง ๆ
4.หวีผมเบา ๆ และใช้หวีที่มีซี่ห่างกัน โดยให้เริ่มหวีจากบริเวณรากผมไปตามความยาวของเส้นผม เพื่อเป็นการกระจายน้ำมันจากหนังศีรษะไปหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นให้ทั่วเส้นผม ไม่ควรใช้หวีที่มีความแข็งและมีซี่ถี่เกินไป เพราะอาจจะเกิดการดึงเส้นผมที่แรง จนทำให้เกิดการขาดร่วงของเส้นผมมากขึ้น
5.หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ เช่น การทำสี การยืด การดัดผม หรือการใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะเป็นอันตรายต่อหนังศีรษะและเส้นผม โดยจะทำให้เกิดสารเคมีสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองแก่หนังศีรษะได้ และยังเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดรังแคเพิ่มขึ้นอีกด้วย
6.หมั่นรักษาความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้กับผมหรือศีรษะ โดยควรหมั่นทำความสะอาดหมอน หรือปลอกหมอน หรือหมวกกันน็อกเป็นประจำ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยลดการสะสมของเชื้อรา
7.เมื่ออยู่ในห้องแอร์ ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสมประมาณ 25 องศา และไม่ควรให้ลมจากเครื่องปรับอากาศโดยหนังศีรษะโดยตรง อาจจะทำให้หนังศีรษะเสียสมดุลทำให้อาการรังแคหายยากขึ้น
8.หากใช้แชมพูขจัดรังแคมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นพ.ภัทร วรวุทธินนท์