คำแนะนำโรคอีสุกอีใส (Chickenpox)
คำแนะนำโรคอีสุกอีใส (Chickenpox)
วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563
ลักษณะทั่วไป อีสุกอีใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แล้วมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก มักพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
1) ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรค
ลักษณะทั่วไป
อีสุกอีใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แล้วมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก มักพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
สาเหตุ
เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด (188 ) ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก โดยมีระยะฟักตัว 10-20 วัน
อาการ
เด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างในและมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้าลำตัวและแผ่นหลัง จะทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อยๆ ออกทีละระลอก (ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส)
สิ่งตรวจพบ
มีผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง มักพบว่ามีไข้
2) การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย/ผู้ที่ความเสี่ยง
1. แนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย เช่น พักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีไข้สูง ห้ามอาบน้ำเย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ ถ้าปากเปื่อย ลิ้นเปื่อยใช้น้ำเกลือกลั้วปาก ควรอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด ( อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ เช่น ไฟโซเฮกช์ ก็ได้) เพื่อป้องกันมิให้ตุ่มกลายเป็นหนองผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น และพยายามอย่าแกะ หรือเกาตุ่มคัน อาจกลายเป็นตุ่มหนองได้
2. ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ทายาแก้ผดผื่นคัน ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ หรือไดอาซีแพมเป็นต้น (ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เป็นเรย์ซินโดรม ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้)
3. ถ้าตุ่มกลายเป็นหนอง ให้ทาด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือ เจนเชียนไวโอเลต ถ้าเป็นมากให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น คล็อกซาซิลลิน หรือ อีริโทรไมซินทำให้เกิดติดเชื้อ
4. ถ้ามีอาการรุนแรงเช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ควรส่งโรงพยาบาลด่วน
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และหายได้เอง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไข้อาจ มีอยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดหลุดหายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ อาจเป็นนาน และมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยเด็ก
2. โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิต้านทานไปจนตลอดชีวิต จะไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจมีโอกาสเป็นงูสวัดในภายหลังได้
3. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทั้งยากิน (เช่น ยาชุด) และยาทา เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้
4. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่นได้ คือ ตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น
3) การป้องกันไม่ให้เกิดโรค
ในปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคอีสุกอีใสใช้แล้ว แต่ราคาค่อนข้างแพง จึงแนะนำให้ฉีดในคนที่มีอายุมากกว่า15 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้สูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก ครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เป็นต้น ควรเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีต่อโรคนี้ก่อน (ถ้าตรวจพบแสดงว่าเคยได้รับเชื้อแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน) ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่จะมีโอกาสติดเชื้อโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และมักจะเป็นไม่รุนแรง จึงมีความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ไม่มาก
4) ข้อควรระวัง
อาการแทรกซ้อน พบได้น้อยในเด็ก แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่ อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรงขึ้นที่พบได้บ่อยคือ ตุ่มกลายเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรีย พุพอง ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้ บางคนอาจกลายเป็นปอดอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งอาจทำให้ตายได้ มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ที่ร้ายแรง คือ สมองอักเสบ แต่พบได้น้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มักเกิดในคนที่ใช้ยาที่ลดภูมิต้านทานโรค เช่น สเตียรอยด์ หรือยารักษามะเร็ง (เช่น เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว) หรือผู้ป่วยเอดส์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้แต่ค่อนข้างน้อยมาก ก็คือ หญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2 ที่ติดเชื้ออีสุกอีใส อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ (เช่น แขนพิการ สมองพิการ ตาเป็นต้อกระจก เป็นต้น) นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้ ทารกกลุ่มนี้ควรได้รับการฉีดสารอิมมูนโกลบูลิน (เช่น Varicella-zoster immune globulin) ป้องกันทันที
นพ.ภัทร วรวุทธินนท์