top of page

รักษาโรคผิวหนัง

ความรู้เรื่องโรคผิวหนังและเลเซอร์

Image-empty-state_edited.jpg

รังสี UVA และ UVB ต่างกันอย่างไร ส่งผลกระทบกับผิวยังไง?

ช่วงนี้เริ่มเข้าหน้าร้อนแล้ว เราจะรู้สึกได้เลยว่า แดดมันเริ่มแรงขึ้น ซึ่งแสง UV ที่ทำร้ายผิวเราได้เนี่ยมีอยู่ 2 แบบ คือ UVA และ UVB ทั้งสองแสง UV นี้ทำร้ายผิวเราได้เหมือนกัน แต่ทำร้ายไม่เหมือนกัน

UVA คืออะไร แล้วทำร้ายผิวอย่างไร

UVA เป็นรังสีที่มีช่วงคลื่นยาวค่ะ โดยอยู่ที่ 320 ถึง 420 nm และรู้ไหมคะว่า ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผาเนี่ย มีแสง UVA ที่กระทบถึงผิวเราได้ถึง 95% และมีมากถึง 80% ในวันที่แสงแดดอ่อนๆ แม้ว่า UVA และ UVB ทำร้ายผิวได้เช่นกัน แต่ UVA จะเป็นรังสีที่หลายคนให้ความระมัดระวังมากค่ะ เพราะว่าเป็นรังสีที่ตกกระทบถึงผิวได้มากกว่า และทะลุเข้าถึงผิวได้ลึกกว่า โดย UVA ทะลุถึงชั้นผิวที่มีคอลลาเจน และอีลาสตินอยู่ นั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่ปกป้องผิวเลย ผิวเราจะมีโอกาสถูกแสง UVA ทำร้ายได้สูง และยังเป็นต้นเหตุของผิวแก่ ริ้วรอยได้ง่ายๆ เลยค่ะ และยังเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังทุกประเภทอีกด้วย


แล้ว UVB ล่ะ ทำให้ผิวเราเสียได้อย่างไร

UVB จะเป็นรังสีที่มีช่วงคลื่นที่สั้นกว่าค่ะ โดยอยู่ที่ 290-320 nm แม้ว่า UVB จะทะลุเข้าผิวได้ไม่ลึกเท่า UVA ก็ตาม แต่เป็นรังสีที่มีพลังมากค่ะ เพราะรังสี UVB สามารถทำให้ผิวเราไหม้แดด แสบ แดง รวมถึงรอยคล้ำได้ด้วย และความแรงของ UVB จะต่างกับ UVA ค่ะ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลา แล้วก็พื้นที่ที่แสงแดดตกกระทบ ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคมจะเป็นช่วงที่แสง UVB ค่อนข้างแรง และในช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นก็เป็นช่วงระหว่างวันที่มีแสง UVB แรงเช่นกันค่ะ แล้วก็รังสีจะยิ่งแรงขึ้นถ้าตกกระทบกับทราย น้ำ และน้ำแข็ง (อย่างตามทะเล ชายหาด ก็จะเจอแสง UVB แผดเผาแรงค่ะ) รวมถึงถ้าอยู่ในบริเวณที่มีความสูงมากก็จะถูกแสง UVB ทำร้ายได้สูงเช่นเดียวกันค่ะ แม้จะดูเหมือนไม่ร้ายแรงเท่า UVA แต่ขอบอกว่า รังสี UVB ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งผิวหนังด้วยนะคะ

สรุป
สรุปก็คือว่า ทั้งสองรังสีนี้มีความต่างที่ช่วงคลื่นความยาว รังสี UVA จะยาวกว่า อีกทั้ง UVA จะพบเจอได้มากกว่า และยังทะลุเข้าผิวได้ลึกกว่า เป็นสาเหตุทั้งผิวคล้ำเสีย ริ้วรอยได้ด้วย ส่วน UVB แม้ช่วงคลื่นจะสั้นกว่า แต่ก็มีพลังมาก สามารถทำให้ผิวไหม้แดด เกิดรอยคล้ำได้ อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นรังสีไหน ต่างก็ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้หากปกป้องผิวไม่ดีพอ

3 กรกฎาคม 2563 07:41:31

Image-empty-state_edited.jpg

สิวที่ก้น เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี ?

สิวที่ก้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ใส่กางเกงที่รัดเกินไป ว่ายน้ำในสระที่ไม่สะอาด หรือใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและอุดตันรูขุมขน เป็นต้น ซึ่งบางครั้งก็อาจทำให้เกิดรอยดำคล้ำจากสิวตามมาได้ด้วย แต่ปัญหาดังกล่าวก็อาจจัดการได้ง่าย ๆ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในบ้าน หรืออาจไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติมตามแต่กรณี

สาเหตุของสิวที่ก้น

สิวที่ก้นส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus ที่มักอาศัยอยู่ตามผิวหนังและเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลต่างๆ จนทำให้ติดเชื้อ หรืออาจเกิดจากปัญหารูขุมขนอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เชื้อรา ขนคุด การใช้ยาบางชนิด หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เป็นต้น

นอกจากนี้ สิวที่ก้นอาจเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

- สวมกางเกงหรือกางเกงชั้นในที่สกปรก ชุ่มเหงื่อ หรือรัดแน่นจนเกินไป
- แพ้สารในผลิตภัณฑ์ซักผ้า หรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม
- ใช้บริการอ่างน้ำหรือสระว่ายน้ำสาธารณะที่ไม่สะอาด รวมถึงสระที่ไม่ได้ใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- กำลังเจ็บป่วย เช่น เป็นโรคเบาหวาน หรือติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้ต่ำกว่าปกติ

วิธีจัดการกับปัญหาสิวที่ก้น

ปัญหาสิวที่ก้นอาจทำให้เกิดอาการคันและระคายเคือง โดยอาจหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากรู้สึกไม่สบายตัวหรืออาการยังคงอยู่เป็นระยะเวลานานก็อาจทำตามวิธีดังต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น

1. ล้างผิวให้สะอาด การอาบน้ำและล้างผิวบริเวณก้นให้สะอาดเป็นวิธีสำคัญที่ป้องกันการติดเชื้อ และอาจเลือกใช้สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะการล้างบริเวณดังกล่าวอาจช่วยขจัดสิ่งสกปรกต่าง ๆ รวมทั้งแบคทีเรียที่เกิดจากเหงื่อออกด้วย
2. อาบน้ำทันทีหลังออกกำลังกายหรือใช้บริการอ่างน้ำสาธารณะ เช่น สระว่ายน้ำ หรือสปา เป็นต้น เพื่อไม่ให้เหงื่อหรือสิ่งสกปรกที่มากับน้ำไปอุดตันรูขุมขนจนเกิดการอักเสบ ซึ่งก่อให้เกิดสิวและปัญหารอยดำคล้ำตามมาได้
3. ทาทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) อาจเลือกใช้โลชั่น ครีม หรือคลีนเซอร์ที่มีส่วนผสมของทีทรีออยล์ เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าน้ำมันสกัดชนิดนี้อาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและรักษาสิวได้
4. ซับผิวด้วยน้ำเกลือ นำเกลือ 1 ช้อนชามาผสมกับน้ำสะอาดประมาณ 2 แก้ว จากนั้นนำผ้าขนหนูสะอาดไปชุบให้ชุ่มและซับในบริเวณที่เป็นสิว เนื่องจากน้ำเกลืออาจช่วยรักษาอาการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงได้
5. ใช้ครีมสังกะสี การเลือกใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสังกะสีหรือซิงก์ (Zinc) อาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของสิวได้
6.นั่งทับผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นที่ไม่ร้อนจนเกินไปแล้วนำมารองนั่ง เพราะอาจช่วยเปิดรูขุมขนให้กว้างขึ้น ระบายหนอง และขจัดแบคทีเรียออกไปได้ หรืออาจนั่งแช่ในน้ำอุ่นได้เช่นกัน
7. ผลัดเซลล์ผิว ใช้ใยบวบขัดผิวหรือใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวชนิดอ่อน เพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและป้องกันการเกิดปัญหารูขุมขนอุดตันหรือติดเชื้อ
8. เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ซักผ้า เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารก่ออาการแพ้ เพราะผู้ที่ผิวแพ้ง่ายบางรายอาจไวต่อสารเคมีต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์ซักผ้า เช่น ผงซักฟอก หรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น ซึ่งหากเกิดอาการแพ้ คัน ระคายเคือง หรืออักเสบ ก็อาจทำให้เป็นสิวที่ก้นได้
9.ไม่สวมกางเกงที่รัดหรือคับจนเกินไป ควรเลือกกางเกงที่หลวมพอเหมาะ ระบายอากาศได้ดี ไม่กักเหงื่อ และทำจากผ้าฝ้าย โดยเฉพาะกางเกงชั้นใน

ทั้งนี้ หากดูแลปัญหาสิวที่ก้นด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล หรือมีอาการที่ทวีความรุนแรงขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป และหากปัญหารูขุมขนอักเสบรุนแรงขึ้นมากจนเป็นฝีฝักบัว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และห้ามเจาะฝีออกด้วยตนเองเด็ดขาด

26 มิถุนายน 2563 06:09:23

Image-empty-state_edited.jpg

ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis)

คงเป็นที่แตกตื่นกันพอสมควรเมื่อมีการให้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งถึงอาการผื่นไหม้ที่บริเวณใบหน้าของแอร์โฮสเตสสาวท่านหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ โดยสาเหตุที่สงสัยว่าจะเกิดจากการสัมผัสกับแมลงชนิดหนึ่งที่ผู้ดำเนินรายการขอเรียกว่า “แมลงน้ำกรด” ซึ่งบางท่านอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักในนามว่า แมลงก้นกระดก ด้วงก้นกระดก หรือ แมลงเฟรชชี่ นั่นเอง

ภาวะที่เกิดขึ้นนี้มีชื่อว่า ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก หรือ Paederus dermatitis ซึ่งเป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสโดนสารชนิดหนึ่งจากตัวแมลงที่มีชื่อว่า ด้วงก้นกระดก หรือ ด้วงปีกสั้น หรือ ด้วงก้นงอน (Rove Beetle, ชื่อวิทยาศาสตร์: Paederus fuscipes ) เป็นแมลงขนาดเล็กประมาณ 7-8 มม. ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้มขนาดเล็ก และส่วนท้องมีสีส้ม แมลงชนิดนี้มักจะงอส่วนท้ายเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงมักเรียกว่า "ด้วงก้นกระดก" แมลงชนิดนี้จัดอยู่ใน Genus Paederus , Family Staphylinidae, Order Coleoptera โดยพบกระจายทั่วโลก มากกว่า 600 สปีชี่ส์ โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น โดยมักอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน

แมลงชนิดนี้สามารถปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin ออกมา โดยสารชนิดนี้ก่อให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนังมาก ทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน และจะมีอาการแสบร้อนหรือ คันได้เล็กน้อยโดยไม่ได้ก่อให้เกิดอาการปวดแสบรุนแรงแต่อย่างใด และมีการอักเสบของผิวหนังได้โดยความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณความมากน้อยหรือความเข้มข้นของสาร Pederin ที่สัมผัสโดน อาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว โดยลักษณะที่เกิดเป็นทางยาวเพราะเกิดจากการปัดด้วยมือ หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน (kissing lesion) ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน 2-3 วัน โดยผื่นตุ่มน้ำตามบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูสวัดได้แต่แตกต่างจากผื่นงูสวัดคือผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก จะไม่มีอาการปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทที่ตำแหน่งที่เกิดผื่นเหมือนเช่นในงูสวัด ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดกนี้ในเวลาต่อมาผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายได้เองได้ภายใน 7 - 10 วัน หายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง ได้แต่มักไม่เกิดเป็นแผลเป็นนอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิมทำให้ผื่นหายช้าลงและอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้ สำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้

หากสัมผัสถูกตัวของ “แมลงก้นกระดก” แล้ว ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วันไม่จำเป็นต้องทายาใด แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยการรักษาผื่นก็คือการให้ครีมสเตียรอยด์ทาในผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางราย

คำแนะนำในการป้องกัน “แมลงก้นกระดก” ก็คือ ไม่ควรจับตัวแมลงมาเล่น ควรหลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว ควรใช้วิธีเป่าแมลงให้หลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัวแมลง ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ก่อน เพื่อป้องกัน รวมทั้ง ควรปิดประตูตู้เสื้อผ้า ประตูและหน้าต่างห้องนอนให้มิดชิดทั้งกลางวันและกลางคืน ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะ “แมลงก้นกระดก” มักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้าน

22 มิถุนายน 2563 06:52:45

Image-empty-state_edited.jpg

ผื่นผิวหนังจากการแพ้ยา (Cutaneous drug eruption) หรือผื่นแพ้ยา

อาการแพ้ยามักเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยๆ โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งมาก่อนซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ยามีลักษณะทางเคมีคล้ายกัน หรือในคนที่มีประวัติของโรคภูมิแพ้ (เช่น หืด หวัดเรื้อรัง ลมพิษ ผื่นคัน) มักจะมีโอกาสแพ้ยามากกว่าคนปกติที่ไม่มีประวัติ ดังนั้นการใช้ยาจึงควรระมัดระวังในเรื่องนี้มาก ในหลายคนมักสับสนในเรื่องของการแพ้ยา ซึ่งเข้าใจว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ยาทั้งหมดเป็นการแพ้ยา เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ ใจสั่น ผื่นคัน แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้จะเรียกว่าอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดยอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.อาการข้างเคียงจากยา ผลการเกิดอาการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยา และ
2.การแพ้ยาซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมักจะไม่สัมพันธ์กับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและมักจะพบอาการที่เด่นชัดในระบบผิวหนัง ในบทความนี้จึงขอกล่าวในรายละเอียดของการเกิดผื่นที่เกิดจากการแพ้ยา

ผื่นผิวหนังจากการแพ้ยา (Cutaneous drug eruption) หรือผื่นแพ้ยา หมายถึงอาการไม่พึงประสงค์จากการแพ้ยาที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับระบบผิวหนัง รวมทั้ง ผม ขน เล็บและเยื่อบุ อาการดังกล่าวไม่สามารถคาดเดาได้ และสามารถเกิดขึ้นแม้จะได้รับยาขนาดปกติ หรือไม่จำเป็นต้องได้รับในขนาดสูงก็สามารถเกิดผื่นแพ้ยาได้ กลไกของการเกิดการแพ้ยาอาจเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน หรือไม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน หรือไม่ทราบสาเหตุก็ได้ หลักเกณฑ์ที่พอจะบ่งชี้ถึงการเกิดอาการแพ้ยาได้โดยคร่าวๆ คือ ประวัติการได้รับยาตัวนั้นๆมาก่อนในช่วง 1-2 อาทิตย์ ประวัติภูมิแพ้ โรคร่วมอื่นๆ สถิติของการเกิดผื่นแพ้ยาของยาชนิดนั้นๆ รูปแบบของผื่นที่เกิดขึ้น เป็นต้น โดยส่วนใหญ่หากสงสัยอาการแพ้ยาจากยา การหยุดยาที่สงสัยแล้วทำให้อาการของผื่นดีขึ้น และ/หรือเกิดขึ้นอีกหากมีการใช้ยาซ้ำ ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติที่ค่อนข้างละเอียด การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การทำ skin test หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

สงสัยแพ้ยาควรทำอย่างไร?

บ่อยครั้งที่เกิดอาการไม่พึ่งประสงค์จากการใช้ยาค่ะ เช่นมีผื่นขึ้น หายใจลำบาก เกิดอาการบวม หรือวิงเวียนศีรษะ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่อาการแพ้ยาเสมอไป ทางการแพทย์เรานั้นแบ่งอาการไม่พึ่งประสงค์นี้ออกเป็นสองอย่างที่สำคัญที่ควรรู้ค่ะ

- Drug allergy (การแพ้ยา) เป็นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ซึ่งไม่ได้เกิดกับทุกคน และ ทำนายได้ยาก ว่าจะมีอาการแพ้หรือไม่ อาการนั้นจะคล้ายๆกับการแพ้อาหาร แพ้กุ้ง ที่มีอาการ บวมตามใบหน้า มีผื่นขึ้น หลอดลมตีบ หายใจลำบาก
เมื่อเกิดอาการแพ้ยานี้ เราจะไม่สามารถใช้ยาตัวนี้ได้อีกเลย เพราะฉะนั้นต้องจำชื่อให้แม่นค่ะ เพราะถ้าเกิดแล้ว อาการนี้จะเกิดไปตลอดชีวิต แม้จะรับยานี้ในขนาดน้อยๆก็ตาม
- Drug Adverse Effect (เกิดผลข้างเคียงจากยา) เป็นกลไกที่ไม่พึ่งประสงค์จากฤทธิ์ของยานั้นๆ ซึ่งเกิดกับทุกคนที่รับยา แต่การรับรู้ผลนั้นแตกต่างกัน เช่นบางคนกินยาแก้แพ้แล้วรู้สึกง่วง บางคนไม่รู้สึก แต่หากเพิ่มระดับยาขึ้นสูงๆ จะสามารถรับรู้ได้ทุกคน เมื่อเกิดผลข้างเคียงของยา ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ให้หยุดการรักษาด้วยยานั้น เพียงแต่ต้องพบแพทย์เพื่อปรับการบริหารยาให้เหมาะสมกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

เมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์ควรทำอย่างไร?

เป็นการยากสำหรับบุคคลทั่วไป ในการแยกระหว่าง “แพ้ยา” กับ “ผลข้างเคียง” ดังนั้นหากเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ให้หยุดการใช้ยาไว้ก่อน และปรึกษาบุคคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญให้นำยาที่กินอยู่ทุกตัวไปด้วยค่ะ เพราะจะได้วินิจฉัยให้ชัดเจนว่าเป็นยาตัวใด และ ใช่การแพ้ยาหรือไม่
เมื่อเกิดอาการแพ้ยาจริง บุคคลากรทางการแพทย์ จะวินิจฉัยว่าเป็นการแพ้ชนิดใด และจะทำการออกบัตรแพ้ยา พร้อมทั้งระบุชนิดย่อยของการแพ้ลงในบัตร คนไข้ควรเก็บบัตรนี้ติดตัวไว้ตลอดและจำให้ได้ พร้อมทั้งยื่นบัตรแพ้ยาก่อนทำการรักษาใดๆเพื่อป้องกันการแพ้ซ้ำซ้อน
อีกประโยชน์ของการมีบัตรแพ้ยา และ รู้กลุ่มยาที่มีการแพ้ชัดเจน คือสามารถทำนายการแพ้ยาในกลุ่มเดียวกัน หรือยาที่มีโครงสร้างคล้ายกันได้

ทั้งนี้การรู้จักผื่นแพ้ยา และเฝ้าระวังหรือคอยสังเกตอาการหลังจากรับประทานยา เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดการแพ้ยาซ้ำ รวมไปถึงการลดโอกาสในการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง หากเกิดอาการที่สงสัยว่าคล้ายกับแพ้ยาหลังจากได้รับยาชนิดนั้นๆไป ผู้ป่วยไม่ควรหยุดการรักษาเองเพราะบางทีอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่อาการแพ้ที่รุนแรงจนทำให้ต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น หรืออาจจะไม่ใช่อาการแพ้ยาเพียงแต่เป็นผลข้างเคียงของยา ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากมีอาการดังกล่าว

21 มิถุนายน 2563 04:53:11

Image-empty-state_edited.jpg

อาการของฝีฝักบัว

ฝีฝักบัวเกิดจากการอักเสบของผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไปและบริเวณรูขุมขน มีลักษณะเป็นก้อนหนองในรูขุมขนหลายก้อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีอาการเจ็บเมื่อสัมผัสโดน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักพบบริเวณหลัง ต้นขา รักแร้ และด้านหลังลำคอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีไข้และมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย เมื่อตุ่มแดงยุบจะมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นมากกว่าฝีโดยทั่วไป

อาการของฝีฝักบัว

ในระยะแรกผู้ป่วยอาจรู้สึกคันผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ หลังจากนั้นจึงเกิดก้อนบวมแดงที่มีลักษณะเป็นก้อนหนองหลายก้อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีขนาดประมาณ 3-10 เซนติเมตร

นอกจากลักษณะดังกล่าว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสผิวหนังที่อักเสบ
- ผิวหนังโดยรอบฝีบวมแดง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีไข้ หรืออ่อนเพลีย
- เกิดแผลเล็ก ๆ บนหัวหนอง แผลบางจุดอาจแห้งและตกสะเก็ดร่วมกับมีน้ำเหลืองซึมออกมา

สาเหตุของฝีฝักบัว

ฝีฝักบัวมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus Aureus) ที่อยู่บนผิวหนัง โดยเฉพาะผิวบริเวณที่อับชื้น เช่น ปาก จมูก รักแร้ ขาอ่อน หรือขาหนีบ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติเชื้อนี้มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย ทว่าเมื่อเชื้อเข้าสู่ผิวหนังผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองโดยส่งเม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดอาการอักเสบและเกิดฝีซึ่งเป็นตุ่มหนองอักเสบตามมา หากเชื้อแบคทีเรียลุกลามสู่ใต้ชั้นผิวหนังก็อาจทำให้การอักเสบขยายวงกว้าง จนเกิดเป็นก้อนหนองอยู่รวมหลายก้อนและกลายเป็นฝีฝักบัวในที่สุด

โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฝีฝักบัวมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่
- ผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย
- ผู้ที่โกน แวกซ์ขน หรือมีบาดแผลตามผิวหนัง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะอาการป่วยอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้กำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ยากขึ้น
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส เนื่องจากการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อหรือเป็นฝีฝักบัวอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายได้
- ผู้ป่วยโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ เพราะโรคผิวหนังอย่างสิวหรือผื่นผิวหนังอักเสบอาจทำให้ผิวบอบบางหรือเกราะปกป้องผิวถูกทำลาย จึงทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
- ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคตับ
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

การรักษาฝีฝักบัว

การรักษาฝีฝักบัวสามารถทำได้หลายวิธี ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงนักอาจรักษาได้ด้วยตนเอง ซึ่งการรักษาฝีฝักบัวในขั้นต้น มีดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการบีบหรือเกาฝี เพราะอาจส่งผลให้การติดเชื้อลุกลามเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น
2.แช่อวัยวะจุดที่มีฝีลงในน้ำอุ่น หรือประคบผิวหนังบริเวณดังกล่าวด้วยผ้าอุ่นประมาน 15 นาที/วัน หลังจากนั้นให้ทำความสะอาดผ้าที่ใช้ด้วยน้ำร้อนและอบแห้งที่อุณหภูมิสูงเพื่อฆ่าเชื้อ
3.ใช้ผ้าพันแผลที่ปลอดเชื้อพันรอบแผล เพื่อช่วยรักษาความสะอาดบริเวณแผลที่เป็นฝี แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำร้อนและสบู่
4.รับประทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดจากการอักเสบ

ส่วนผู้ป่วยที่มีฝีขึ้นใกล้บริเวณจมูก กระดูกสันหลัง และดวงตา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา หรือผู้ที่รักษาอาการด้วยตัวเองตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน โดยแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

1. รับประทานยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือยาทาภายนอกให้ผู้ป่วยใช้รักษานานอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
2. ใช้สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีสรรพคุณช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง และป้องกันการเกิดฝีซ้ำ
3. ผ่าตัดระบายหนองในฝีออก มักใช้กับผู้ป่วยที่มีฝีขนาดใหญ่และอยู่ลึก โดยแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดหรือเข็มปลอดเชื้อสะกิดบนฝีให้เกิดแผลเล็ก ๆ แล้วระบายหนองภายในออกมา

ภาวะแทรกซ้อนของฝีฝักบัว

แม้ผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรงนัก แต่ฝีฝักบัวอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการ ดังนี้

1.แผลเป็น ผู้ป่วยที่เป็นฝีฝักบัวอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นหลังจากฝียุบแล้วมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นฝีทั่วไป
2.เชื้อดื้อยา เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัสออเรียสบางตัวอาจทนต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเมธิซิลินได้ ทำให้รักษาได้ยากกว่าปกติ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน
3.เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ใต้ชั้นผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ผิวหนังบวมแดง เกิดความเจ็บปวด สัมผัสแล้วรู้สึกร้อน ผู้ป่วยอาจมีไข้ มึนงง คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
4.ติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่ผิวหนังอาจลุกลามไปบริเวณอื่นของร่างกายและทำให้อวัยวะอื่น ๆ เกิดการอักเสบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นปอด กระดูก ข้อต่อ หัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง หรืออาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการหนาวสั่น มีไข้สูง อ่อนเพลียอย่างมาก และหัวใจเต้นเร็ว หากไม่รีบรับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันฝีฝักบัว

โดยทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดฝีฝักบัว และป้องกันเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่นได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

1.หลีกเลี่ยงการบีบหรือเกาผิวหนังบริเวณที่มีฝีหรือแผล
2.อาบน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายเป็นประจำ
3.ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำ
4.หลีกเลี่ยงการเกาแผลหรือรอยขีดข่วนตามร่างกาย โดยให้ทำความสะอาดแผลและปิดแผลด้วยผ้าพันแผลปลอดเชื้อจนกว่าจะหายเป็นปกติ
5.หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น และควรซักทำความสะอาดสิ่งของดังกล่าวด้วยน้ำร้อนเป็นประจำ
6.รีบไปพบแพทย์หากพบว่าเป็นโรคผิวหนังหรือมีอาการเจ็บป่วยที่อาจก่อให้เกิดแผลตามร่างกาย

26 มิถุนายน 2563 06:48:07

Image-empty-state_edited.jpg

กดสิว ดีจริงไหม ทำอย่างไรให้ถูกวิธี ?

กดสิวเป็นขั้นตอนการรักษาที่ช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น ลดการเกิดสิวใหม่ และช่วยป้องกันสิวอุดตันพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบ ซึ่งมีความรุนแรงขึ้นและอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นในภายหลังได้ แม้ว่าการกดสิวจะช่วยกำจัดสิวอุดตันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเสี่ยงเกิดอาการอักเสบที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น ควรศึกษาวิธีกดสิวที่ถูกต้องและปลอดภัยก่อนตัดสินใจทำ ทั้งการกดสิวโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและการลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ เป็นรอยดำ รอยหลุม หรือรอยแผลเป็น

กดสิว เป็นอย่างไร ?

การกดสิวเป็นการบีบผิวบริเวณที่เป็นสิว แล้วใช้เข็มหรืออุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะผิวหนังให้หนอง ของเหลว หรือสิ่งที่อุดตันอยู่ภายในสิวไหลออกมา แม้ทำให้สิวหาย แต่การกดสิวอาจเสี่ยงทำให้สิ่งสกปรกและแบคทีเรียซึมลึกสู่ผิวหนัง เพราะแบคทีเรียจากของเหลวในสิวอาจกระเด็นไปสัมผัสผิวหน้าส่วนอื่น จนทำให้ผิวบริเวณนั้นเกิดสิวขึ้นได้ หรืออาจมีแบคทีเรียสะสมที่มือแล้วนำมือไปสัมผัสใบหน้า จนเป็นเหตุให้สิวเกิดการอักเสบรุนแรง มีอาการบวมแดง ติดเชื้อ และอาจเป็นรอยแผลลึกที่รักษาได้ยาก

กดสิว เหมาะกับสิวประเภทใด ?

การกดสิวจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของสิวด้วย ส่วนใหญ่การกดสิวจะได้ผลดีกับสิวอุดตันมากที่สุด ทั้งสิวหัวดำและสิวหัวขาว ซึ่งสิวเหล่านี้จะอุดตันบนใบหน้า ทำให้ผิวหน้าขรุขระไม่เรียบเนียน

อย่างไรก็ตาม แพทย์ผิวหนังจะกดสิวต่อเมื่อรักษาสิวด้วยวิธีอื่น เช่น การรับประทานยา หรือการใช้ยาแต้มสิวแล้วรักษาไม่ได้ผล โดยแพทย์จะหลีกเลี่ยงการกดสิวอักเสบ เช่น สิวมีหนอง สิวผด หรือสิวอุดตันที่อยู่ใกล้สิวอักเสบ รวมถึงอาจหลีกเลี่ยงการกดสิวให้กับผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้ยาทาสิวที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

กดสิวโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

แพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีจะสามารถกดสิวได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย โดยในขั้นตอนของการกดสิว ผู้เชี่ยวชาญจะสวมถุงมืออนามัยเพื่อป้องกันแบคทีเรียที่สะสมอยู่บนฝ่ามือสัมผัสกับใบหน้า จากนั้นจึงใช้นิ้วบีบผิวบริเวณที่เป็นสิวขึ้นมา ใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะหัวสิวให้เปิด แล้วใช้เครื่องมือกดสิวกดลงบนบริเวณที่เป็นสิวเบา ๆ เพื่อให้หัวสิวและของเหลวภายในสิวหลุดออกมา

ข้อดีและข้อเสียของการกดสิว

โดยปกติแล้ว การกดสิวจะปลอดภัยหากทำอย่างถูกวิธีโดยแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี ทำในสถานที่ที่สะอาด และใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาสิวด้วยวิธีนี้จะช่วยกำจัดสิวอุดตันให้หายเร็วขึ้น และช่วยป้องกันการเกิดสิวใหม่หากใช้วิธีอื่น ๆ ในการดูแลผิวหน้าร่วมด้วย เช่น การล้างหน้าและดูแลผิวหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม การกดสิวที่ไม่ถูกวิธี ไม่รักษาความสะอาดให้ดี รวมถึงการแกะหรือบีบสิวอาจทำให้ปัญหาสิวแย่ลง อาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียจนเกิดการอักเสบ และอาจเกิดรอยแผลเป็นจากสิวได้ ดังนั้น หากต้องการกดสิว ทางที่ดีที่สุด คือ ไปพบแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเกิดปัญหาผิวหนังต่าง ๆ ตามมา

26 มิถุนายน 2563 06:03:26

Image-empty-state_edited.jpg

แมลงกัดต่อย และวิธีรักษาอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง

แม้อาจเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกแมลงกัดต่อย เพราะเหล่าแมลงนั้นมักแฝงตัวอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในสวนหลังบ้าน ในแม่น้ำ ตามแนวหญ้าป่าเขา หรือที่ใด ๆ ซึ่งเมื่อถูกแมลงกัดต่อยก็อาจเกิดรอยแดงที่ผิวหนัง เกิดอาการบวม หรืออาจรู้สึกปวดตามบริเวณดังกล่าว แต่หากอาการไม่รุนแรงมากก็อาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจนัก เพราะโดยส่วนใหญ่แมลงเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง และอาจรักษาหรือบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นด้วยตนเองได้ที่บ้าน ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

วิธีรับมือและบรรเทาอาการจากแมลงกัดต่อย

แผลที่เกิดจากแมลงกัดต่อยนั้น อาจแตกต่างกันไปตามชนิดของแมลง แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นตุ่มสีแดงเล็ก ๆ บนผิวหนัง และอาจทำให้รู้สึกคัน ปวด หรือมีอาการบวมในบริเวณดังกล่าว แม้อาการเหล่านี้มักสร้างความเจ็บปวดให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผู้ที่ถูกแมลงกัดต่อยก็อาจอยากรักษาอาการที่เกิดขึ้นให้หายไปด้วยตนเอง โดยอาจทำตามวิธีต่อไปนี้ เพื่อให้อาการหายดีภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน

- เมื่อถูกแมลงกัดต่อย ให้ย้ายไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้แมลงกัดต่อยซ้ำได้อีก และล้างบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บด้วยน้ำและสบู่ รวมทั้งหมั่นรักษาความสะอาดบริเวณนั้น ๆ อยู่เสมอ
- หากถูกเห็บกัด มีขนของแมลง หรือมีเหล็กในติดอยู่ที่ผิวหนัง ให้นำสิ่งเหล่านั้นออกจากผิวหนังโดยใช้แหนบหรือปากกาเขี่ยขนของแมลงออก ใช้อุปกรณ์ดึงเห็บหรืออาจใช้แหนบดึงตัวเห็บโดยเฉพาะ และอาจใช้วัสดุที่แข็งอย่างสันบัตรเครดิตขูดเหล็กในของแมลงจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้เหล็กในหลุดออก แต่ห้ามบีบผิวเพื่อให้เหล็กในหลุดออกมาโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้พิษกระจายออกมาได้
- ให้ยกบริเวณที่แมลงกัดต่อยให้สูงขึ้นหากทำได้ เพื่อลดอาการปวดบวม และควรเฝ้าสังเกตบริเวณดังกล่าวในวันถัดไปด้วยว่ามีอาการปวดบวมหรือแดงมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้
- ประคบเย็นบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อยด้วยถุงน้ำแข็ง ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งเป็นเวลาประมาณ 10 นาที จากนั้นให้พัก 10 นาทีแล้วประคบใหม่ โดยอาจทำเช่นนี้สลับไปมาเรื่อย ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดบวมหรือคัน ทั้งนี้ อาจอาบน้ำเย็นเพื่อช่วยลดอาการคันด้วยก็ได้
- ห้ามแกะเกาแผลหรือทำให้แผลเปิด เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม และอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากเป็นเด็กเล็กที่ถูกแมลงกัดต่อย ควรตัดเล็บเด็กให้สั้น และหมั่นดูแลความสะอาดเล็บของเด็กอยู่เสมอ
- ห้ามรัดบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บด้วยสายรัดใด ๆ และควรถอดเครื่องประดับที่รัดแน่นบริเวณนั้นออก เพราะหากบริเวณดังกล่าวบวมขึ้น อาจทำให้ถอดเครื่องประดับออกได้ยาก
- อาจนำสำลีก้านไปจุ่มกับนมแล้วมาป้ายบริเวณที่แมลงกัดต่อย เพราะโปรตีนในน้ำนมอาจช่วยลดอาการบวม แดง หรือการอักเสบ
- อาจลองทาบริเวณที่แมลงกัดต่อยด้วยยาสีฟัน เบกกิ้งโซดาผสมน้ำ Tea Tree Oil น้ำมันลาเวนเดอร์ หรือหอมหั่นสด เพื่อช่วยลดอาการที่เกิดขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่แพ้สารต่าง ๆ เหล่านี้
- รับประทานยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาอาการปวด หรืออาจลดอาการคันโดยการรับประทานยาต้านฮิสตามีนชนิดเม็ด ใช้ครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของไฮโดรคอร์ติโซนหรือคาลาไมน์บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ห้ามใช้ยาอื่นหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็น Reye’s Syndrome ได้

หลังแมลงกัดต่อย มีอาการแบบไหนจึงควรไปพบแพทย์ ?

ผู้ที่ถูกแมลงกัดต่อยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน สับสน มีปัญหาด้านการหายใจ หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นตะคริว มีอาการบวมที่เปลือกตา ริมฝีปาก ปาก และคอ เป็นลม หรือเป็นลมพิษ นอกจากนี้ หากรู้สึกว่าตนเองไม่สบายหรือมีอาการคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ในหลายวันถัดมาหลังจากถูกแมลงกัดต่อย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อหรือโรคที่อาจเกิดขึ้นจากแมลงเหล่านั้น รวมทั้งหากแผลมีความรุนแรงขึ้นและเป็นไม่หายหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

22 มิถุนายน 2563 06:48:34

Image-empty-state_edited.jpg

ขนคุด เกิดจากอะไร? และเคล็ดลับการกำจัดขนคุด

ขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นภาวะทางผิวหนังที่เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน มักพบว่ามีผิวแห้ง เป็นปื้นหยาบ และเป็นตุ่มนูนที่รูขุมขน เวลาลูบไปที่บริเวณดังกล่าวจะให้ความรู้สึกสาก ๆโดยมักเกิดขึ้นบริเวณแขนส่วนบน ต้นขา ก้นหรือแก้ม ปกติจะไม่ทำให้รู้สึกคันหรือเจ็บ

อาการของขนคุด

ขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กเล็ก ซึ่งทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
1. มีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนัง
2. มักเกิดขึ้นที่แขนส่วนบน ต้นขา แก้มหรือก้น และจะไม่ทำให้เกิดอาการคันและเจ็บ
3. บริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มจะมีผิวที่แห้งและหยาบกร้าน
4. เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อมีความชื้นในอากาศน้อย มักจะทำให้อาการแย่ลงหรือผิวบริเวณที่เป็นขนคุดแห้งกว่าเดิม
5. เมื่อลูบที่ผิวหนังจะทำให้รู้สึกคล้ายกระดาษทราย

เมื่อไรที่ควรพบแพทย์?
โดยปกติอาจไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่หากอาการที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกไม่สบายใจหรือเกิดความวิตกกังวลกับรูปลักษณ์ ผู้ป่วยสามารถไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อขอคำปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไขได้

สาเหตุของขนคุด ขนคุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในการสะสมของเคราติน (Keratin) โดยเคราตีนเป็นโปรตีนที่เซลล์ผิวหนังสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการการติดเชื้อหรือป้องกันการดูดซึมสารอันตรายต่าง ๆ ซึ่งการสะสมของเคราตินทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณรูขุมขน จึงทำให้ขนไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติและเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสะสมของเคราติน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรมหรือภาวะทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

นอกจากนั้น ผู้ที่มีผิวแห้งมักมีโอกาสเกิดขนคุดได้มาก และอาจมีอาการแย่ลงเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะมีความชื้นในอากาศน้อยและมักทำให้ผิวแห้ง

การวินิจฉัยขนคุด โดยปกติผู้มีขนคุดไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพราะเป็นภาวะที่ไม่มีความร้ายแรง แต่หากผู้ป่วยมีความต้องการพบแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยได้โดยการตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการ และไม่มีความจำเป็นต้องมีการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนั้น การวินิจฉัยหรือศึกษาอาการของผู้ป่วย จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการเรื้อรัง รวมไปถึงตรวจสอบถึงความจำเป็นในการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอาจมีการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยว่าภาวะขนคุดไม่ได้เป็นโรคติดต่อและไม่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมแต่อย่างใด

การรักษาขนคุด

โดยส่วนใหญ่ เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ขนคุดจะค่อย ๆ หายไปเอง และสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นดูแลรักษาผิวเพื่อทำให้บริเวณที่เป็นขนคุดมีอาการดีขึ้นได้ แต่หากใช้แล้วไม่สามารถช่วยให้อาการดีขึ้น ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อขอครีมที่สั่งโดยแพทย์มาใช้ได้ โดยแพทย์อาจจ่ายยาต่อไปนี้

- ครีมยาช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว แพทย์จะให้ใช้ครีมยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี กรดแลคติก กรดซาลิไซลิก หรือยูเรีย ซึ่งนอกจากครีมที่มีส่วนผสมเหล่านี้จะช่วยผลัดและกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป ยังช่วยให้ความชุ่มชื้นและช่วยให้ผิวที่แห้งกร้านมีความนุ่มนวลขึ้น นอกจากนั้น แพทย์จะสามารถแนะนำวิธีการใช้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตาม กรดที่ผสมอยู่ในครีมเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแดงหรือระคายเคืองต่อผิวได้ ซึ่งจะไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก

- ครีมป้องกันการอุดตันของรูขุมขน แพทย์จะให้ครีมยาวิตามินเอ เช่น ยาเตรทติโนอิน ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเซลล์และป้องกันการอุดกั้นของรูขุมขน อย่างไรก็ตาม ครีมยาชนิดนี้อาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือผิวแห้งได้ และสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร แพทย์จะไม่ให้ใช้หรืออาจเลือกใช้วิธีอื่นรักษาแทน

- ทำเลเซอร์ไอพีแอล (Intense Pulsed Light: IPL) หรือเพาซ์ดายเลเซอร์ (Pulse Dye Laser) จะช่วยในการลดอาการแดงที่ผิวหนัง แต่จะไม่สามารถลดความหยาบหรือผิวที่ขรุขระได้ หรือบางรายอาจแนะนำให้ทำเลเซอร์กำจัดขน

ภาวะแทรกซ้อนของขนคุด
ขนคุดไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดความรำคาญและความวิตกกังวลกับรูปลักษณ์ นอกจากนั้น พบว่าผู้ที่มีอาการขนคุดมักจะมีโรคหรือภาวะทางผิวหนังอื่น ๆ ด้วย เช่น ผิวหนังอักเสบออกผื่นหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมไปถึงผู้ที่มีสภาพผิวแห้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขนคุดได้มากขึ้น

การป้องกันขนคุด

แม้ไม่สามารถป้องกันการเกิดขนคุดได้ แต่สามารถทำให้อาการหรือรูปลักษณ์ดีขึ้นได้ ด้วยการดูแลผิวไม่ให้แห้งและมีความชุ่มชื้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1.ไม่ควรเกาบริเวณตุ่มรูขุมขนหรือขัดถูผิวหนังบริเวณที่เป็นขนคุดรุนแรงเกินไป
2.เวลาอาบน้ำควรใช้น้ำอุ่นที่อุณหภูมิไม่สูงจนเกินไป และเมื่อต้องอาบน้ำ แช่น้ำ หรือว่ายน้ำ ควรจำกัดเวลาอยู่ในน้ำไม่ให้นานจนเกินไป ประมาณ 10 นาที หรือน้อยกว่า เพราะเมื่ออาบน้ำร้อนหรืออยู่ในน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ไขมันที่ผิวหนังถูกกำจัดไปและทำให้ผิวแห้ง
3.ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่อาบน้ำที่ทำให้ผิวแห้ง โดยสามารถกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วด้วยผ้าขนหนูหรือฟองน้ำที่ใช้ขัดตัวแทน
4.ใช้ครีมบำรุงที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำ โดยหลังจากอาบน้ำในขณะที่ผิวกำลังหมาด ๆ สามารถใช้ครีมหรือโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ซึ่งอาจมีส่วนผสม เช่น ลาโนลิน (Lanolin) ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum Jelly) หรือกลีเซอรีน (Glycerine)
5.หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่คับหรือเข้ารูปจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีที่ผิวหนัง

20 มิถุนายน 2563 08:54:50

Image-empty-state_edited.jpg

เราจำเป็นต้องสครับผิวหน้ากันหรือเปล่า ?

อีกหนึ่งวิธีบำรุงผิวที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็คือ “การสครับผิว” ซึ่งก็จะมีทั้งเสียงที่บอกว่าควรสครับเยอะๆ ผิวจะได้สวยๆ ขาวๆ แต่บางเสียงก็บอกว่าอย่าสครับเลย เดี๋ยวผิวจะระคายเคือง เกิดเป็นผื่นแดงๆ ขึ้นเต็มหน้า ไม่สวยเอานะ

เราสครับผิวไปเพื่ออะไร
สิ่งที่เรียกว่า “สครับ” เกิดขึ้นมาเพราะเพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวหมดอายุ หรือเซลล์ผิวเก่าๆ ให้หลุดออกไป แล้วให้เซลล์ผิวที่ใหม่กว่า สวยกว่า ขาวกว่า เผยออกมา และการสครับผิวยังช่วยขจัดสิ่งสกปรก คราบมันที่อุดตันตามรูขุมขนให้ออกมาได้ด้วย ถ้าใครอยากเพิ่มดีกรีความสะอาดให้กับผิว การสครับผิวก็ช่วยได้ค่ะ แต่ตามปกติแล้วผิวคนเราจะผลัดออกเองตามธรรมชาติอยู่แล้วประมาณ 28-30 วัน แต่ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง ก็อาจจะทำให้ผิวเราผลัดออกช้า สวยไม่ทันใจ สวยไม่สุด การสครับผิวเลยเป็นทางออกหนึ่ง ที่จะทำให้ผิวเราสวยขึ้นได้แบบสังเกตเห็นได้ชัด

คำตอบก็คือ มีทั้ง “จำเป็น” และ “ไม่จำเป็น” ไม่ได้เป็นกฎตายตัว ถ้าเราไม่สครับเลยก็มีข้อดีตรงที่ว่า ไม่เป็นการรบกวนผิวให้ผิวง่ายต่อการระคายเคือง และไม่ทำร้ายเกราะป้องกันผิวตามธรรมชาติให้อ่อนแอลงด้วย (การสครับผิวหรือขัดผิวบ่อยๆ ทำให้ผิวอ่อนแอลงได้นะ) แต่ถ้าอยากจะสครับก็ไม่ว่ากันค่ะ แต่ควรทำแบบพอดี ไม่ถี่เกินไป โดปกติแล้ว สัปดาห์หนึ่งไม่ควร 1-2 ครั้งค่ะ และนอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังอื่นๆ อีกเช่น

• สำหรับคนที่ผิวแห้ง หรือระคายเคืองง่าย ควรเลือกผลิตภัณฑ์สครับผิวเม็ดเล็ก อย่าเลือกเม็ดหยาบ เพราะอาจทำให้ผิวเราระคายเคืองได้ง่ายค่ะ
• ควรเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับสครับผิวให้เหมาะกับสภาพผิวเรา
• ไม่ควรสครับผิวบ่อยเกินไป
• ควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับสครับผิวที่มีส่วนผสมเป็นกรดต่างๆ เช่น Glycolic acid ที่เหมาะกับคนมีสิวนั้น ควรสครับไม่เกินสัปดาห์ละครั้งค่ะ เพราะผิวอาจบอบบางลงได้

สรุปก็คือ เรื่องของการสครับผิวเนี่ย เราจะทำหรือไม่ทำก็ได้ หากเรารู้สึกว่าผิวเราดูหมองๆ ไม่กระจ่างใส การสครับผิวก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า อย่าสครับผิวบ่อยเกินไปนะคะ เพราะเดี๋ยวผิวจะอ่อนแอ และเกิดการระคายเคืองได้

26 มิถุนายน 2563 06:39:06

Image-empty-state_edited.jpg

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผิวของคุณมีอาการคัน

ผิวหนังที่มีอาการคันและระคายเคือง บางครั้งคุณรู้สึกอยากจะเกาเพื่อบรรเทาอาการคันเหล่านั้น บางครั้งสาเหตุนี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะผิวอ่อนแอ อาการแพ้ หรืออาการป่วยของผิว
การเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการคันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์สามารถหาสาเหตุและรักษาอาการได้อย่างถูกต้อง หรือบางครั้งแพทย์สามารถจ่ายยาทาแก้ผื่นคันที่เหมาะกับอาการเพื่อมาทารักษาได้เองที่บ้าน

เงื่อนไขที่ทำให้เกิดอาการคัน
ผิวแห้ง (Itchy skin)
ผิวจะมีอาการคันผิวหนัง ผิวแห้ง คันและแตก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตามขาแขนและหน้าท้อง สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทามอยเจอร์ไรเซอร์ เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เพื่อไม่ให้ผิวแห้งคัน

แพ้อาหาร (Food allergy)
หากมีการแพ้อาหารเกิดขึ้น และมีอาการแสดงออกมาตามผิว คุณควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจาก

บางครั้งอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การแพ้อาหารอาจจะเกิดขึ้นจาก

- เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของคุณมีปฎิกริยาตอบสนองกับสารอาหารหรือเครื่องดื่มที่รับเข้าไป ว่าเป็นอาหารที่ร่างกายคุณไม่สามารถรับได้
- อาการมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง อาจมีการจาม ตาบวม คัน มีผื่นลมพิษ ปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนและหายใจไม่ออก
- ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของคุณ อาการอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที หรืออาจจะให้หลังเป็นชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้
- อาหารส่วนใหญ่ที่คนอาจจะแพ้ได้ มีดังนี้ นมวัวไข่ ถั่วลิสง ปลา ธัญพืช ข้าวสาลี ถั่วเหลือง

โรคตับแข็ง (Cirrhosis)
- ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด หน้าท้องบวม
- ผิวช้ำง่าย และมีเลือดออกง่าย
- เส้นเลือดเห็นชัดเหมือนใยแมงมุมใต้ผิว
- ผิวหรือตาเหลือง และมีอาการคันที่ผิว

ผื่นผ้าอ้อม (Diaper rash)
- มีผื่นแพ้บริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อม
- ผิวแดงระคายเคือง
- ผิวมีร้อนเมื่อสัมผัส

ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)
โรคผิวหนังผื่นแพ้สัมผัส อาการ

ผื่นแพ้เกิดภายใน หนึ่งชั่วโมงสามารถมีอาการ หนึ่งวันหลังจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
- ผื่นแดง มองเห็นได้และปรากฏขึ้นที่ผิวของคุณที่สัมผัสกับสารระคายเคือง
- ผิวที่แพ้มีอาการคัน แดง ลอก
- มีแผลพุพองที่ไหลซึม หรือผิวลอก

ลมพิษ (Urticaria)
- คันที่เกิดขึ้นหลังจากการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้
- ผิวร้อนแดงและมีอาการเจ็บผิวเล็กน้อยเมื่อสัมผัส
- อาจจะเกิดขึ้นเป็นวงเล็กๆ เหมือนวงแหวนหรืออาจจะใหญ่และเล็กปะปนกันไป

ผื่นแพ้ (Rash)
หากเกิดอาการนี้นับว่าเป็นอาการที่มีความอันตรายสูง ควรพบแพทย์โดยด่วน

- สีผิวเปลี่ยนไปเห็นได้อย่างชัดเจนตรงที่เป็นผื่นคัน
- อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นแมลงสัตว์กัดต่อย อาการแพ้ผลข้างเคียงของยา การติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อรา การติด - เชื้อที่ผิวหนังจากแบคทีเรีย โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- อาการขึ้นผื่นแดงนี้สามารถรักษาเองได้ที่บ้าน แต่หากมีอาการรุนแรงร่วมกับอาการป่วย วิงเวียน อาเจียน หรือหายใจไม่สะดวก คุณอาจจะต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน
- หน้าเป็นปื้นแดง คัน

โรคผิวหนังชนิดเป็นตุ่มพุพอง (Impetigo)
- พบมากในทารกและเด็ก
- ผื่นตุ่มพุพองมักจะเกิดบริเวณปาก คาง จมูก
- เป็นผื่นระคายเคืองและมีแผลพุพองอาจมีหนอง ผิวบริเวณรอบเป็นสีน้ำตาล
- เป็นตุ่มคันหรือตุ่มใส ไม่คัน

สังคัง (Jock itch)
- ผิวแดงคัน ร่วมกับผิวไหม้ที่บริเวณขาหนีบ
- ผิวลอก แตกบริเวณขาหนีบ
- ผื่นแดงบริเวณขาหนีบจะแย่ลงหากมีการเสียดสี

กลาก (Ringworm)
- มีลักษณะเป็นวงกลมแดงขุยๆ ตามชอบวงกลม
- ผิวด้านในวงกลมอาจจะเป็นผิวปกติ แต่ตามขอบโดยรอบจะเป็นขุย
- มีอาการคัน

หิด (Scabies)
- อาการอาจใช้เวลาสี่ถึงหกสัปดาห์จึงจะปรากฏ ผื่นคัน
- อาจเกิดอาการแพ้รุนแรงอาจเป็นผื่นเม็ดคันมีแผลพุพองเล็ก ๆ หรือผิวลอก
- ผิวมีเส้นขาว ๆ เป็นลายเส้น ๆ
- มีตุ่มขึ้นตามตัว คัน

โรคหัด (Measles)
- มีไข้เจ็บคอ ตาแดงเป็นน้ำ เบื่ออาหาร ไอและน้ำมูกไหล
- ผื่นแดงจะกระจายบริเวณใบหน้าและร่างกายสามถึงห้าวันหลังจากมีอาการ
- มีจุดสีแดงเล็ก ๆ ที่มีจุดศูนย์กลางสีขาวปรากฏขึ้นภายในปาก
- จุดแดงใต้ผิวหนัง ไม่คันหรือคัน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- ผิวเป็นเกล็ดสีเงินแห้งและเป็นหย่อม ๆ
- โดยทั่วไปจะอยู่บนหนังศีรษะข้อศอกหัวเข่าและหลังส่วนล่าง
- อาจจะมีอาการคันหรือไม่คัน

การวินิจฉัยสาเหตุของอาการคันของคุณ
แพทย์จะทำการตรวจสอบร่างกายและจะถามคำถามคุณหลายข้อเกี่ยวกับอาการของคุณเช่น:

1. อาการระคายเคืองมีมานานแค่ไหนแล้ว
2. มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือไม่
3. ผิวได้มีการสัมผัสสารระคายเคืองหรือไม่
4. ปกติมีอาการแพ้หรือไม่
5. มีการคันรุนแรงแค่ไหน
6. มีการทานยาอะไรหรือไม่

คุณอาจต้องผ่านการทดสอบเพิ่มเติมหากแพทย์ของคุณไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการคันได้ จากคำตอบและการตรวจร่างกาย การทดสอบอาจรวมถึง:

การตรวจเลือด: อาจบอกสาเหตุได้
ทดสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ : สามารถแยกแยะปัญหาต่อมไทรอยด์ได้
การตรวจชิ้นเนื้อผิวหนัง: สามารถตรวจสอบได้ว่าคุณมีการติดเชื้อหรือไม่

เมื่อแพทย์ระบุสาเหตุของอาการคัน คุณสามารถได้รับวิธีรักษาอาการคันตามผิวหนังที่เป็นให้ถูกวิธี หากสาเหตุเป็นโรคหรือการติดเชื้อแพทย์จะแนะนำแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาเบื้องต้น เมื่อสาเหตุไม่ได้รุนแรง แพทย์อาจสั่งยาทาชนิดครีมที่จะช่วยบรรเทาอาการคัน ทั้งนี้ไม่ควรซื่อยาแก้คันตามผิวหนังเองเนื่องจากอาจจะไม่ได้รักษาได้ตรงต้นเหตุ

คุณควรพบแพทย์ ถ้าหากคุณ :
- อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาการคันรุนแรง
- พบอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการคัน

การพบแพทย์เพื่อการดูแลสุขภาพของคุณเป็นสิ่งสำคัญในการวินิจฉัยเมื่อสาเหตุไม่ชัดเจนเนื่องจากสาเหตุบางอย่างของอาการคันนั้นรุนแรง แต่ยังสามารถรักษาได้

22 มิถุนายน 2563 07:08:39

Image-empty-state_edited.jpg

คำแนะนำโรคอีสุกอีใส (Chickenpox)

ลักษณะทั่วไป อีสุกอีใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แล้วมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก มักพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี

1) ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรค

ลักษณะทั่วไป

อีสุกอีใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แล้วมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก มักพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี

สาเหตุ

เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด (188 ) ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก โดยมีระยะฟักตัว 10-20 วัน

อาการ

เด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างในและมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้าลำตัวและแผ่นหลัง จะทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อยๆ ออกทีละระลอก (ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส)

สิ่งตรวจพบ

มีผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง มักพบว่ามีไข้

2) การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย/ผู้ที่ความเสี่ยง

1. แนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย เช่น พักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีไข้สูง ห้ามอาบน้ำเย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ ถ้าปากเปื่อย ลิ้นเปื่อยใช้น้ำเกลือกลั้วปาก ควรอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด ( อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ เช่น ไฟโซเฮกช์ ก็ได้) เพื่อป้องกันมิให้ตุ่มกลายเป็นหนองผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น และพยายามอย่าแกะ หรือเกาตุ่มคัน อาจกลายเป็นตุ่มหนองได้

2. ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ทายาแก้ผดผื่นคัน ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ หรือไดอาซีแพมเป็นต้น (ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เป็นเรย์ซินโดรม ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้)

3. ถ้าตุ่มกลายเป็นหนอง ให้ทาด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือ เจนเชียนไวโอเลต ถ้าเป็นมากให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น คล็อกซาซิลลิน หรือ อีริโทรไมซินทำให้เกิดติดเชื้อ

4. ถ้ามีอาการรุนแรงเช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ควรส่งโรงพยาบาลด่วน

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และหายได้เอง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไข้อาจ มีอยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดหลุดหายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ อาจเป็นนาน และมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยเด็ก

2. โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิต้านทานไปจนตลอดชีวิต จะไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจมีโอกาสเป็นงูสวัดในภายหลังได้

3. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทั้งยากิน (เช่น ยาชุด) และยาทา เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้

4. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่นได้ คือ ตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น

3) การป้องกันไม่ให้เกิดโรค

ในปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคอีสุกอีใสใช้แล้ว แต่ราคาค่อนข้างแพง จึงแนะนำให้ฉีดในคนที่มีอายุมากกว่า15 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้สูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก ครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เป็นต้น ควรเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีต่อโรคนี้ก่อน (ถ้าตรวจพบแสดงว่าเคยได้รับเชื้อแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน) ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่จะมีโอกาสติดเชื้อโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และมักจะเป็นไม่รุนแรง จึงมีความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ไม่มาก

4) ข้อควรระวัง

อาการแทรกซ้อน พบได้น้อยในเด็ก แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่ อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรงขึ้นที่พบได้บ่อยคือ ตุ่มกลายเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรีย พุพอง ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้ บางคนอาจกลายเป็นปอดอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งอาจทำให้ตายได้ มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ที่ร้ายแรง คือ สมองอักเสบ แต่พบได้น้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มักเกิดในคนที่ใช้ยาที่ลดภูมิต้านทานโรค เช่น สเตียรอยด์ หรือยารักษามะเร็ง (เช่น เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว) หรือผู้ป่วยเอดส์

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้แต่ค่อนข้างน้อยมาก ก็คือ หญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2 ที่ติดเชื้ออีสุกอีใส อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ (เช่น แขนพิการ สมองพิการ ตาเป็นต้อกระจก เป็นต้น) นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้ ทารกกลุ่มนี้ควรได้รับการฉีดสารอิมมูนโกลบูลิน (เช่น Varicella-zoster immune globulin) ป้องกันทันที

22 มิถุนายน 2563 06:39:31

Image-empty-state_edited.jpg

ผื่นแพ้ยุง: รักษา ป้องกันอย่างไร?

ช่วงฝนตกน้ำท่วมเช่นนี้ หลายคนคงมีปัญหารบกวนจากกองทัพยุงเป็นแน่ ยุงที่กัดส่วนใหญ่ในบ้านเราคือ ยุงรำคาญ (Culex quinquefasciatus) เป็นยุงเพศเมียเพราะต้องการเลือดในการสร้างไข่ เมื่อยุงกัดจะปล่อยน้ำลายออกมาซึ่งในน้ำลายนี้เองมีสารโปรตีนที่เป็นสาเหตุของผื่นคันและการแพ้

ผื่นยุงกัดลักษณะเป็นอย่างไร
ผื่นยุงกัดมีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ และอาการขึ้นกับปริมาณยุงที่กัดด้วย ส่วนใหญ่เมื่อโดนกัดซ้ำหลายๆครั้ง อาการมักจะน้อยลง โดยทั่วไปจะเห็นเป็นตุ่มนูน แดง คัน ขึ้นอยู่นานประมาณ 20 นาที และค่อยๆยุบไปได้เอง ตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณขา ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นการแพ้ แต่เป็นปฏิกริยาต่อน้ำลายยุงเท่านั้น ส่วนในคนที่แพ้ยุงจริงๆนั้นหลังถูกกัดจะพบตุ่มนูนแดงคงอยู่นานหลายวัน หรือพบตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่ (บางครั้งใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร) ตุ่มน้ำพอง จ้ำเลือด ในบริเวณที่โดนกัด ในบางรายมีผื่นลมพิษทั่วตัวหรือลมพิษชนิดลึกร่วมกับมีอาการหมดสติได้ ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากการแกะเกาและมีรอยดำตามมาได้บ่อย

ใครคือบุคคลที่เสี่ยงต่อการแพ้ยุง
- เด็กเล็กซึ่งยังไม่เคยโดนยุงกัดมาก่อนเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อยุงน้อย จะสังเกตเห็นว่าเด็กมักมีผื่นยุงกัดมากกว่าผู้ใหญ่ หรือนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยสัมผัสกับยุงในสถานที่นั้นๆมาก่อน
- คนที่มีโรคเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันเช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด
- คนที่ใช้ชีวิตหรือทำงานนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่

วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเราแพ้ยุง
อาศัยทั้งจากประวัติ ลักษณะตุ่มที่โดนกัดว่ารุนแรงกว่าคนทั่วไป นอกจากนั้นอาจทำการตรวจเพิ่มเติมเช่นทำการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังที่เรียกว่า skin prick test โดยใช้สารสกัดจากน้ำลายยุงมาสะกิดผิวหนังในบริเวณท้องแขนและดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ในรายที่มีประวัติแพ้รุนแรงมาก อาจใช้วิธีเจาะเลือดดูค่าภูมิคุ้มกันต่อยุงได้ (specific IgE)

การรักษา
ในรายเป็นตุ่มยุงกัดธรรมดา อาจใช้ยาทากลุ่ม calamine หรือ menthol เพื่อให้รู้สึกเย็นสบาย ลดอาการคัน หรือยาทากลุ่ม สเตียรอยด์ ส่วนในรายที่เป็นตุ่มขนาดใหญ่ อาจใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ โดยเลือกความเข้มข้นให้เหมาะสม เช่นในเด็กควรใช้ยาที่มีความแรงอ่อนเช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ร่วมกับรับประทานยาแก้แพ้เช่น chlorpheniramine, cetirizine บางครั้งถ้ามีอาการรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องรับประทานยาสเตียรอยด์ร่วมด้วยซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ยุงกัดจนแขนขาลาย รักษาอย่างไรดี
รอยดำจากยุงกัด เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยกังวลมาก เนื่องจากเป็นเรื่องของความสวยงาม ซึ่งการรักษา แพทย์อาจใช้ยาทาที่ช่วยลดการสร้างเม็ดสีและที่สำคัญต้องป้องกันอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้มีรอยโรคจากยุงกัดเพิ่ม

การป้องกัน
นอกจากการใส่เสื้อผ้าปกปิด หลีกเลี่ยงแหล่งที่มียุงชุม รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ใช้ยาจุดกันยุงแล้ว บางครั้งอาจจำเป็นต้องยาทากันยุง (insect repellants) บริเวณผิวหนังร่วมด้วย ปัจจุบันสารเหล่านี้เริ่มใช้กันแพร่หลาย มีหลายยี่ห้อในท้องตลาด ทั้งครีม โลชั่น สเปรย์ แป้งและแผ่นอาบน้ำยา ซึ่งสารเหล่านี้จะระเหยเป็นกลิ่นที่ยุงไม่ชอบทำให้ยุงเข้ามากัดเราน้อยลง สารที่นิยมใช้มีดังนี้
1. DEET (N,N-diethyl-3-methylbenzamide) สามารถทาที่ผิวหนังโดยตรงหรือใช้พ่นที่เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ต่างๆได้ ระยะเวลาป้องกันยุงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร โดยถ้าความเข้มข้นน้อยกว่า 10% จะป้องกันยุงได้ประมาณ 1-3 ชั่วโมง ถ้าความเข้มข้น 10-30% ป้องกันยุงได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรทาบริเวณใกล้ตาหรือผิวหนังที่เป็นแผล ในเด็กเล็กควรใช้สารนี้เมื่ออายุมากกว่า 2 เดือนเพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและเลือกใช้ความเข้มข้นที่น้อยกว่า 10%
2. ตะไคร้หอม สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย citronella oil และ geraniol ข้อดีคือเป็นสารสกัดจากพืชธรรมชาติ แต่ป้องกันยุงได้ในช่วงสั้นประมาณ 20-30 นาที
3. น้ำมันยูคาลิปตัส (lemon eucalyptus oil) เป็นสารสกัดจากธรรมชาติเช่นกัน ป้องกันยุงได้ในช่วงประมาณ 2-5 ชั่วโมง
4. Permethrin นิยมใช้ฉีดพ่นที่ข้าวของเครื่องใช้เช่นเสื้อผ้า รองเท้า มุ้ง สามารถติดทนแม้จะทำการซักไปแล้วหลายครั้ง
5. Picaridin เป็นสารตัวใหม่ที่นิยมใช้ในต่างประเทศ มีประสิทธิภาพดี ไม่มีกลิ่นและระคายเคืองต่อผิวหนังน้อยกว่า DEET

ผู้ป่วยที่แพ้ยุงนั้นพบได้ไม่บ่อยแต่มักทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต รวมถึงผลข้างเคียงในด้านความสวยงาม นอกจากนั้น ยุงยังเป็นพาหะของโรคต่างๆอีกหลายโรค ดังนั้นทุกคนที่แพ้หรือไม่แพ้ยุงจึงควรหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้โดนยุงกัดเช่นกัน

16 มิถุนายน 2563 04:12:09

bottom of page